ธุรกิจต้องรู้…เงินเฟ้อสูง…เป็นแค่เรื่องชั่วคราว?

โดย นที ดำรงกิจการ
Head of Financial Advisory
Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

เมื่อปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด ผลกระทบจากการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของCOVID-19 สินค้าและบริการบางประเภทเป็นที่ต้องการน้อยลง ในทางกลับกัน ราคาหุ้นหลายตัวกลับเพิ่มขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจอย่างน่าประหลาดใจ เหตุเพราะมีนวัตกรรมที่มาตอบรับการใช้ชีวิตในยุคที่เรียกว่า New normal อีกทั้งผู้คนเริ่มหันมาสนใจการออมเงินและการลงทุนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อประชากรเกือบ 70% ในยุโรปและสหรัฐฯ ได้รับการฉีดวัคซีน ประชากรในหลายๆ ประเทศได้กลับออกมาใช้ชีวิตอีกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ความอัดอั้นที่เก็บสะสมไว้จากการถูกล็อคดาวน์ให้อยู่กับบ้าน ส่งผลให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยและบริโภคสินค้า รวมถึงบริการต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบหลายปี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่ที่ 5.4%YoY นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 13 ปี จากการที่ภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาภายหลังการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

ธุรกิจต้องรู้…เงินเฟ้อสูง…เป็นแค่เรื่องชั่วคราว?

สำหรับอังกฤษเอง ตัวเลขเงินเฟ้อก็พุ่งขึ้นสูงไม่แพ้กัน

อยู่ที่ 2.5% ในเดือนมิถุนายน และเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งปัจจัยสำคัญก็มาจากการคลายล็อคดาวน์ โดยจากปีที่ผ่านมาสินค้าและบริการ เสื้อผ้า และอื่นๆ มีราคาค่อนข้างต่ำ เมื่อนำมาคำนวณแล้ว ทำให้ในปีนี้ตัวเลขค่อนข้างสูง ทางธนาคารกลางอังกฤษมองว่าเป็นเพียงการเพิ่มขึ้นชั่วคราวเช่นกัน

สำหรับประเทศไทย เงินเฟ้อขยายตัวที่ 3.41% ในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นในรอบ 14 เดือน เป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก COVID-19 กลับมาระบาดเป็นวงกว้างอีกครั้ง ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังคงปรับตัวขึ้นตามราคาตลาดโลก ซึ่งราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยค่อนข้างมากเพราะเราต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ในขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว

แม้เงินเฟ้อจะสูงขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก แต่อัตราการจ้างงานกลับไม่สูงเท่าที่ควร ล่าสุดอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ และยูโรโซนอยู่ที่ 5.9% และ 8.2% ตามลำดับ ซึ่งยังคงสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด

เหตุที่อัตราการจ้างงานยังปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อยอาจเป็นเพราะนวัตกรรมจากเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอีคอมเมิร์ซที่ขยายตัวมากกว่า 50% หลังเกิดการแพร่ระบาด ภาคธุรกิจหันมาพึ่งพาระบบดิจิทัลและ AI เป็นส่วนใหญ่เห็นได้จากธุรกิจออนไลน์ยังคงเติบโตแบบก้าวกระโดด แม้เศรษฐกิจในภาพรวมจะตกต่ำลง

นอกจากนี้ การพิจารณาเพียงตัวเลขอัตราการว่างงานเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอในปัจจุบัน อย่างเช่นในกรณียูโรโซน แม้ว่าอัตราการว่างงานจะปรับลดลงแล้วแต่หากพิจารณาสภาวะอุปทานแรงงานคลายตัว (Slack) ซึ่งหมายถึง ปรากฏการณ์ที่จำนวนงานที่แรงงานต้องการจะทำงานนั้นมีมากกว่าจำนวนงานที่ผู้ประกอบการจะว่าจ้างได้ หรืออีกนัยคือแรงงานที่ว่างงานอยู่และเลือกที่จะไม่หางานทำ (Hidden unemployment) คือไม่เข้าสู่ตลาดแรงงานนั่นเอง ข้อมูลล่าสุดระบุว่าอุปทานแรงงานคลายตัวของยูโรโซนอยู่ที่ราว 17.3% ยังคงขยับขึ้นจากปลายปี 2020 ที่ระดับ 16.2% ในขณะที่อัตราว่างงาน 7.9% ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงปี 2008 ที่อุปทานแรงงานคลายตัวต่ำกว่า 15% และอัตราการว่างงานไม่ต่างจากระดับปัจจุบันมากนัก ทำให้พบว่าภาวะอุปทานแรงงานคลายตัวนั้นกลับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าในช่วงเวลานี้

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เชื่อได้ว่าค่าจ้างมีแนวโน้มที่จะไม่ถูกขยับขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีแรงจูงใจที่จะขึ้นค่าจ้างในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีและจำนวนแรงงานอยู่ในตลาดมีเหลือล้นมาก ส่งผลให้ในแง่ของปัจจัยค่าจ่างไม่น่าจะผลักดันให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นได้แต่อย่างใด

นำมาซึ่งข้อสรุปที่ว่า อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูง เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้นและน่าจะทยอยปรับลดลงได้ในอนาคต แต่อย่างไรก็ดีเรายังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เพราะ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดทิศทางของเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน

ขอบคุณแหล่งที่มา : businesstoday.co